วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรคกระดูกพรุน

-->
โรคกระดูกพรุน
การสูญเสียมวลกระดูกไม่แสดงอาการใดออกมา ประชาชนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกระทั่งกระดูกอ่อนแอลง เมื่อได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย หรือหกล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหัก

-->
โรคกระดูกพรุนคืออะไร?
โรคกระดูกพรุน คือ โรคที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างต่อเนื่อง และเสื่อมสลายทางโครงสร้างของกระดูกทำให้กระดูกบางลง มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย โรคนี้ค่อยๆเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน มักไม่ค่อยแสดงอาการจนกระทั่งมีการหักของกระดูกเกิดขึ้น  

-->
โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?
โรคกระดูกพรุนมักถูกเรียกว่า มหันตภัยเงียบ เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูกไม่แสดงอาการใดออกมา ประชาชนทั่วไปมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนกระทั่งกระดูกอ่อนแอลง เมื่อได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย หรือหกล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายโดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก, กระดูกสันหลัง, และกระดูกบริเวณข้อมือผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดมากจนกระทั่งไม่สามารถทำงานและทำกิจวัตรประจำวันได้ เมื่อกระดูกสันหลังหัก หรือยุบลงมาผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง, ตัวเตี้ย, หลังค่อม 

-->
อะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ?
สาเหตุที่แท้จริงของโรคกระดูกพรุนไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้แก่ เพศหญิง, ประจำเดือนหมดก่อนวัยอันควร หรือได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออก, ได้รับอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ, สูบบุหรี่, ดื่มสุราและกาแฟมาก, ได้รับยาสเตียรอยด์, ยารักษาโรคไทรอยด์, เป็นโรครูมาตอยด์  พบว่า 50% ของผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีเกิดกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน

-->
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่?
แพทย์สามารถตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้เครื่องเอกซเรย์(DEXA)วัดความหนาแน่นของมวลกระดูกที่สะโพก, กระดูกสันหลัง, และกระดูกข้อมือ ซึ่งเป็นวิธีการวัดมวลกระดูกด้วยเทคนิคพิเศษโดยใช้รังสีจำนวนน้อยเพื่อหาปริมาณของมวลกระดูก

มีวิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนอย่างไร?
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหัก  โดย
·      หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
·      รับประทานแคลเซียม ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยมีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุคือ
o   เพศชายและเพศหญิงอายุ 9-18 ปี ต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
o   เพศชายและเพศหญิงอายุ19-50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
o   ผู้หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรต้องการแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
o   เพศชายและเพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี ต้องการแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
o   อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ โยเกิร์ต, นม 1 แก้ว(250 cc) มีแคลเซียม 300มก., ปลากระป๋อง, ผักบร๊อคเคอรี่,  ผักใบเขียว
·      วิตามินดี  ร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 200-600iu
·      ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกเช่น การเดิน, การวิ่ง, การวิ่งบนสายพาน การรำมวยไท้เก๊กเป็นการช่วยฝึกความสมดุลของร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้หกล้มได้ง่าย

ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วมีวิธีการรักษาอย่างไร?
เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุนแล้วก็มีการใช้ยาในการรักษาเพื่อชลอการสูญเสียมวลกระดูกไม่ให้เกิดมากขึ้น และลดอัตราการเกิดกระดูกหัก  ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่ แคลเซียม, วิตามินดี, วิตามินเค, ยาคัลซิโทนิน(calcitonin), ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนท(bisphosphonate), ยาฉีดกระตุ้นการสร้างกระดูก (parathyroid hormone)  ร่วมกับการบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, ฝึกสมดุลของร่างกายก็จะช่วยลดอุบัติการของการเกิดกระดูกหักได้ 

แบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
1.บิดามารดามีประวัติกระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือไม่
2.ตัวท่านมีประวัติกระดูกหัก จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือ ไม่
3.ได้รับยาจำพวกสเตอรอยด์มานานกว่า 3เดือน หรือไม่
4.มีส่วนสูงลดลงจากเดิมมากกว่า3ซม.หรือไม่
5.ดื่มสุรามากกว่าปรกติหรือไม่
6.สูบบุหรี่มากกว่า 20มวนต่อวัน หรือไม่
7. มีปัญหาท้องเดินหรือท้องร่วงเป็นประจำหรือไม่
8.ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปีหรือไม่
9.ประจำเดือนไม่มาตามปรกติเกินกว่า 12 เดือนหรือไม่  (ยกเว้นในรายที่ตั้งครรภ์)
10.สำหรับสุภาพบุรุษ : ความต้องการทางเพศลดลงหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือไม่

กระดูกหลังโก่ง เนื่องมาจากกระดูกพรุนและมีการยุบของกระดูกสันหลัง



กระดูกหลังโก่ง เนื่องจากกระดูกสันหลังยุบ


ภาพเอกซเรย์แสดงกระดูกสันหลังทรุด เนื่องจากโรคกระดูกพรุน

ภาพเอกซเรย์แสดงกระดูกสะโพกหักทั้ง 2 ข้าง



ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์  ภาควิชาออร์โทปิดิกส์  คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
tleerapun@gmail.com ,  www.taninnit.com , Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง,
 line ID search : keng3407









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น